พระพุทธศาสนา สมัยทวาราวดี ผืนแผ่นดินจุดแรกของอาณาจักรสุวรรณภูมิ หรือที่เรียกกันว่า "แหลมทอง" ซึ่งท่าน พระโสณะกับพระอุตตระได้เดินทางจากชมพูทวีปเข้ามาประดิษฐานนั้น จดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง เรียกว่า "ทวาราวดี" สันนิษฐานว่าได้แก่ที่จังหวัดนครปฐม เพราะมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น ปรากฏว่าเป็นหลักฐานประจักษ์พยานอยู่ พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในครั้งนี้ เป็นแบบเถรวาทดั้งเดิม พุทธศาสนิกชนได้มีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมาก และได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการะบูชา เรียกว่า สถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจีในอินเดีย ที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างขึ้น ศิลปะในยุคนี้เรียกว่า ศิลปะแบบทวาราวดี



พระพุทธศาสนา สมัยอาณาจักรอ้ายลาวพระพุทธศาสนาในยุคนี้เป็นแบบมหายาน ในสมัยที่ขุนนางเม้ากษัตริย์ไทย ก่อนที่จะอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยปัจจุบัน ครองราชย์อยู่ในอาณาจักรอ้ายลาว ได้รับเอาพระพุทธศาสนามหายานผ่านมาทางประเทศจีน โดยการนำของพระสมณทูตชาวอินเดียมาเผยแผ่ ในคราวที่พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายาน ณ เมืองชลันธร พระสมณทูตได้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเซียกลาง พระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนทรงรับพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในจีน และได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตได้นำเอาพระพุทธศาสนามาด้วย ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง ๗๗ มีราษฎร ๕๑,๘๙๐ ครอบครัว หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานเป็นครั้งแรก