พระพุทธศาสนา สมัยศรีวิชัย พ.ศ. ๑๓๐๐อาณาจักรศรีวิชัยในเกาะสุมาตราเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ได้แผ่อำนาจเข้ามาถึงจัดหวัดสุราษฎร์ธานี กษัตริย์ศรีวิชัยทรงนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน พระพุทธศาสนาแบบมหายานจึงได้แผ่เข้ามาสู่ภาคใต้ของไทย ดังหลักฐานที่ปรากฏคือเจดีย์พระบรมธาตุไชยา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และรูปหล่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร





พระพุทธศาสนา สมัยลพบุรี พ.ศ. ๑๕๕๐  ในสมัยกษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมันเรืองอำนาจนั้น ได้แผ่อาณาเขตขยายออกมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในราว พ.ศ. ๑๕๔๐ และได้ตั้งราชธานีเป็นที่อำนวยการปกครองเมืองต่าง ๆ ในดินแดนดังกล่าวขึ้นหลายแห่ง เช่น
   เมืองลพบุรี ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดี ส่วนข้างใต้
   เมืองสุโทัย ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวาราวดีส่วนข้างเหนือ
   เมืองศรีเทพ ปกครองหัวเมืองที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำป่าสัก
   เมืองพิมาย ปกครองเมืองที่อยู่ในที่ราบสูงต้อนข้างเหนือ
เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นนี้เมืองลพบุรีหรือละโว้ ถือว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด กษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมัน ทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่ฝ่ายมหายานในสมัยนี้ผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนในอาณาเขตต่าง ๆ ดังกล่าว จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิมด้วย กับแบบมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ด้วย ทำให้มีผู้นับถือพระพุทธศาสนา ๒ แบบ และมีพระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน และภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาหลักของศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในด้านภาษาและวรรณคดีไทยตั้งแต่บัดนั้นมา สำหรับศาสนสถานที่เป็นที่ประจักษ์พยานให้ได้ศึกษาถึงความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทยครั้งนั้น คือพระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยนั้นก็เป็นแบบขอม ถือเป็นศิลปะอยู่ในกลุ่ม ศิลปสมัยลพบุรี